ระบบจัดการฐานข้อมูล
(Database Management System : DBMS)
ระบบจัดการฐานข้อมูล คือ
ระบบจัดการฐานข้อมูล หรือ Database Management System : DBMS คือ ซอฟท์แวร์โปรแกรมหรือกลุ่มของซอฟท์แวร์โปรแกรมที่ทำหน้าที่เข้าถึงและจัดการกับข้อมูลจำนวนมากที่มีความสัมพันธ์กัน เปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างผู้ใช้งานกับฐานข้อมูลและระบบปฏิบัติการของเครื่องคอมพิวเตอร์
ความสำคัญของเรื่อง
ระบบจัดการฐานข้อมูล (DBMS) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ Computer-Based Information System (CBIS) ซึ่งเป็นแนวคิดรวบรวมข้อมูลและโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ มาทำงานร่วมกันได้โดยมีเทคนิคการดึงและจัดเก็บข้อมูลที่ซับซ้อน และสามารถแสดงความสัมพันธ์ของระเบียนต่างๆ ภายใต้แฟ้มข้อมูลได้ ทั้งนี้ยังทำหน้าที่จัดระเบียบแฟ้มทางกายภาพ ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลในรูปแบบต่างๆ การบำรุงรักษาฐานข้อมูลให้อิสระจากโปรแกรมประยุกต์ ความปลอดภัย และการกู้แฟ้มข้อมูลอีกด้วย
ส่วนประกอบแวดล้อมของระบบจัดการฐานข้อมูล
ส่วนประกอบแวดล้อมของระบบจัดการฐานข้อมูลหรือ Components of DBMS Environment ประกอบด้วย 5 ส่วนที่สำคัญ ต่อไปนี้
1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware) เครื่องคอมพิวเตอร์และจำนวนพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล ซึ่งมีหลายระดับการใช้งานให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะงานขององค์กรและผลิตภัณฑ์ระบบจัดการฐานข้อมูลต้องมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลสูงทั้งด้านความเร็วและความจุข้อมูล ต้องมีการ ปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ซอฟต์แวร์ (Software) ประกอบด้วยฐานข้อมูล ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลในกรณีที่มีการเชื่อมโยงเครือข่าย และโปรแกรมประยุกต์หรืออาจจะเป็นภาษาสืบค้นข้อมูลที่เรียกว่า Query Language ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ใช้ ช่วยในการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ได้รวดเร็วในลักษณะที่เป็นวิธีทางข้อความ (Text Mode) หรือวิธีทางรูปภาพ (Graphic Mode)
3. ข้อมูล (Data) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ใช้งานโดยเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างคนและระบบข้อมูลในฐานข้อมูล ทั้งตัวข้อมูลและโครงสร้างของข้อมูล นิยามโครงสร้างของฐานข้อมูล เรียกว่า Schema จะขึ้นอยู่กับตัวแบบข้อมูล (Data Model) ซึ่งโครงสร้างของ ฐานข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไว้ในพจนานุกรม (System Catalog)
4. วิธีการดำเนินงาน (Procedure) คือคำสั่งหรือกฎเกณฑ์ในการออกแบบและใช้ ฐานข้อมูลในการประมวลผล ฐานข้อมูลจะมีเอกสารที่แจกแจงรายละเอียดให้ผู้ใช้งานหรือผู้ดูแลระบบฐานข้อมูลทราบถึงขั้นตอนการดำเนินงาน
5. บุคลากร (People) แบ่งเป็น 4 ประเภทตามหน้าที่และบทบาท ได้แก่ พนักงานดูแลและบริหารข้อมูล นักออกแบบฐานข้อมูล นักออกแบบและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์และผู้ใช้บริการฐานข้อมูล
หน้าที่ของระบบจัดการฐานข้อมูล
ระบบจัดการฐานข้อมูลที่ดี ต้องมีความสามารถในการจัดการที่หลากหลายซึ่งในเรื่องนี้เป็นที่แน่นอนว่า คุณลักษณะของระบบจัดการฐานข้อมูลเมนเฟรมแบบเต็มสเกล (full-scale mainframe DBMS) ต้องมีความหลากหลายที่มากกว่าของระบบบนไมโครคอมพิวเตอร์ อย่างไร ก็ตามจะขอกล่าวถึงเฉพาะคุณลักษณะเด่นๆ ของระบบจัดการฐานข้อมูลบนไมโครคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้
1. ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล (Data Storage) การเรียกค้น (Retrieval) และการ แก้ไขเปลี่ยนแปลง (Update) เป็นความสามารถพื้นฐานที่ระบบจัดการฐานข้อมูลทุกตัวจะต้องมี ซึ่งถึงแม้ว่าระบบจัดการฐานข้อมูลจะอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ แต่ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใช้ที่จะต้องรู้ถึงโครงสร้างฐานข้อมูลและการกระทำกับฐานข้อมูลนั้นด้วย
2. ความสามารถในการเข้าถึงพจนานุกรม (Catalog) ซึ่งเป็นที่เก็บนิยามของข้อมูลบนฐานข้อมูล เป็นส่วนที่มีความสำคัญสำหรับผู้บริหารฐานข้อมูลหรือโปรแกรมเมอร์ที่จะเขียนโปรแกรมเพื่อใช้งานฐานข้อมูลนั้น
3. การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่วมกัน (Shared Update) เป็นการเพิ่มความมั่นใจในความถูกต้องเมื่อมีผู้ใช้หลายคนต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขฐานข้อมูลในเวลาเดียวกัน
4. การสำรองข้อมูล (Backup) และการกู้ข้อมูล (Recovery) เป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับฐานข้อมูล โดยจะทำการสำรองฐานข้อมูลไว้และในกรณีที่เกิดความ เสียหายขึ้น ก็จะทำการกู้ข้อมูลโดยใช้ส่วนที่สำรองไว้ แต่มีข้อเสียคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนเกิดความเสียหายจะไม่ถูกบันทึกไว้
5. การรักษาความปลอดภัย เป็นการเพิ่มความมั่นใจว่าผู้ใช้งานที่ได้รับการอนุญาตเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลได้ ซึ่งทำได้โดยการกำหนดรหัสผ่านให้กับผู้ใช้ การเข้ารหัสข้อมูล และการกำหนดมุมมองของผู้ใช้
6. การรักษา Integrity ของข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการสร้างเงื่อนไขให้กับข้อมูลใน ฐานข้อมูล รวมถึงกฎข้อบังคับต่างๆที่จะถูกใช้เมื่อมีความต้องการจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ
7. ความสามารถในการให้อิสระแก่ข้อมูล เป็นการสนับสนุนให้โปรแกรมเป็นอิสระจากโครงสร้างที่ซับซ้อนของฐานข้อมูล โดยการกำหนดโครงสร้างของฐานข้อมูลแยกออกมา ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ กับโครงสร้างนี้จะไม่มีผลต่อโปรแกรมที่ใช้ฐานข้อมูล
8. การนำเสนอยูทิลิตี้ต่างๆ เป็นยูทิลิตี้ที่ใช้ในการบำรุงรักษาทั่วไปในฐานข้อมูล เช่น การอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของฐานข้อมูลได้ การอนุญาตให้เข้าถึงดอสได้จากในระบบจัดการฐานข้อมูล
ข้อพิจารณาในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
การนำไปใช้
ระบบจัดการฐานข้อมูลนี้ เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ใช้ในการเข้าถึง และจัดการกับ ข้อมูลที่เก็บอยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งในการนำระบบจัดการฐานข้อมูลมาใช้นี้ ผู้ใช้จำเป็นต้องมีการ ออกแบบฐานข้อมูลอย่างดี เพื่อที่จะนำข้อดีของระบบจัดการฐานข้อมูลนี้มาใช้อย่างเต็มที่ เช่น การลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ความเป็นอิสระของข้อมูล ความง่ายในการเข้าถึงข้อมูล การมี ระบบรักษาปลอดภัย ความสามารถในการจัดการกับข้อมูลที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันได้ และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโปรแกรม เพราะจะไม่มีปัญหาการแปรผันของข้อมูล เมื่อระบบงานขยายตัวมากขึ้น เป็นต้น
นอกจากผู้ใช้จะต้องออกแบบฐานข้อมูลอย่างดีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงระบบจัดการฐานข้อมูลที่นำมาใช้ด้วยว่าเหมาะสมกับข้อมูลที่มีอยู่หรือไม่ หากข้อมูลมีจำนวนมาก และมีความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน ก็ควรจะใช้ระบบจัดการฐานข้อมูลที่สามารถรองรับการจัดการข้อมูลจำนวนมากได้ เช่น Oracle หรือ Informix เป็นต้น แต่หากข้อมูลมีจำนวนไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบการจัดการฐานข้อมูลใหญ่ขนาดนั้น สามารถใช้ระบบการจัดการฐานของมูลที่มีขนาดเล็กกว่า และง่ายในการใช้มากกว่า เช่น Interbase หรือ Microsoft Access เป็นต้น
แหล่งข้อมูล :
ดร.ดวงแก้ว สวามิภักดิ์. ระบบฐานข้อมูล : Database System. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
จรณิต แก้วกังวาล. การออกแบบและจัดการฐานข้อมูล. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น